วันจันทร์ที่ 29 ธันวาคม พ.ศ. 2551

หยี่หลองสิ๋น - 二郎神



หยี่หลองสิ๋น (二郎神) คือชื่อตำแหน่งของเทพพิทักษ์ (Taoist Protector) ในศาสนาเต๋า ที่เกี่ยวพันกับธาตุน้ำ (道教神名)และกำจัดปีศาจร้ายหรือพลังชั่วร้ายต่างๆ ซึ่งตามระบบของเทพในศาสนาเต๋าแล้ว จะมีอยู่ด้วยกันสามท่าน ตามยุคสมัยต่างๆกันดังนี้

1. ลี้หยี่หลอง (李二郎)บุตรชายของลี้ปิง (李冰) ซึ่งเป็นรับราชการเป็นแม่ทัพในรัฐฉู่ (蜀將 ปัจจุบันอยู่บริเวณมณทลเสฉวน) ท่านเกิดสมัยจั้นกว๋อ 戰國時代 หรือประมาณ 250 ปีก่อนคริสตกาล ในสมัยนั้น ท่านและบิดาของท่านได้ร่วมกับประชาชนในการขุดคลองเพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วมและเพื่อการชลประทาน ซึ่งต่อมาปรากฎว่ามีปีศาจงูมาอาละวาดสร้างความเสียหายในคลองนั้น หลังจากที่ได้เปิดใช้มาเป็นเวลาหนึ่งปี จึงทำให้ท่านและบิดาต้องเข้าทำการต่อสู้ปราบเจ้าปีศาจงูตัวนั้นลงได้ นับตั้งแต่นั้นมาผู้คนต่างกราบไหว้ยกย่องท่านให้เป็นเทพเจ้า และได้สร้างศาลบูชา หลังจากที่ท่านได้เสียชีวิตลง

ในยุคต่อมา ลี้ปิงได้รับชื่อที่ได้รับการแต่งตั้งว่า กงเจ่อ๋อง (廣濟王)และ ลี้หยี่หลอง เป็น หุ้ยเหลงถาว (惠靈侯)ปัจจุบันศาลเจ้าที่สร้างให้สองพ่อลูก ตั้งอยู่บริเวณแม่น้ำหมิน เสฉวน มีชื่อว่า ศาลเจ้าหยี่อ๋อง (二王庙)

หมายเหตุ หนังสือบางเล่มก็ระบุตัวลี้ปิงเองคือเทพหยี่หลองเช่นกัน


ศาลเจ้าหยี่อ๋อง (二王庙)


หลังจากเกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ในเสฉวน ทำให้ศาลเจ้าหยี่อ๋อง ได้รับความเสียหายมาก ในรูปเป็นรูปแกะสลักของลี้ปิงหลังจากเหตุการณ์แผ่นดินไหว


สภาพความเสียหายภายนอกศาลเจ้าหยี่อ๋อง จากเหตุการณ์แผ่นดินไหว ในรูปจะเห็นถึงความโศกเศร้าของนักพรตในศาลเจ้า
ภาพจากสำนักข่าวซินหัว


2. นักพรตเต๋าจากภูเขาชิ่งเชี๋ย ชื่อว่า ติวอยู่ (青城道士趙昱)หรือ ติวตงเบ๋ง(趙仲明) เกิดในสมัยซุ่ย (隋朝 ปี ค.ศ. 581-618)และเคยรับราชการเป็นผู้ตรวจการมณฑลมาก่อน ท่านได้ศึกษาเต๋าจากอาจารย์ลี้ยู่ (李珏) จากนั้นได้ปลีกวิเวก พาตัวเองขึ้นไปฝึกฝนที่ภูเขาชิ่งเชี๋ย (青城山)

ต่อมาปีหนึ่งได้ปรากฎมีปีศาจพรายน้ำขึ้นมาอาละวาดที่รัฐเจีย ติวอยู่จึงลงจากภูเขาเพื่อมาปราบปีศาจตนนี้ หลังจากได้ต่อสู้กันพักใหญ่ เจ้าอยู่ก็สามารถปราบปีศาจพรายน้ำตนนี้ลงได้ราบคาบ

จากวีรกรรมนี้เอง ชาวบ้านได้สร้างศาลเจ้าเพื่อสักการะบูชาท่าน บริเวณปากแม่น้ำ และต่อมาชาวบ้านได้เรียกท่านเป็น ก่วนข้าวหยี่หลองสิ๋นติวอยู่(灌口二郎神趙昱) ศาลเจ้าของท่านปัจจุบันยังมีให้เห็นอยู่ที่มณฑลเสฉวนครับ


ศาลเจ้าโบราณ (สองร้อยกว่าปี) บูชาเทพหยี่หลอง ณ เมืองก่วนข้าว


3. หยี่หลองสิ๋น เอี่ยวเจี้ยน (二郎神楊戩)
ถือได้ว่าหยี่หลองสิ๋นเอี่ยวเจี้ยน เป็นเทพหยี่หลองที่ใหม่ที่สุดครับ เพราะเป็นเทพที่ปรากฎให่หนังสือพงศาวดารห้องสิ๋น (封神榜) ซึ่งพงศาวดารเรื่องนี้ได้ปรากฎมีขึ้นในสมัยปลายราชวงศ์หมิงเองครับ (晚明年間)

ในพงศาวดารห้องสิ๋นนั้น ได้มีการเรียกเอี่ยวเจี้ยนว่าเป็น หัวหน้าแห่งภูเขาหมุ่ย(梅山首領) ซึ่งได้ปราบปีศาจ 6 ตนและต่อมาปีศาจทั้งหกนี้ได้กลายมาเป็นคณะผู้ติดตามเอี่ยวเจี้ยนไป ทำให้ต่อมาภายหลัง ชาวบ้านเรียกรวมๆกันเป็น เจ็ดเทพแห่งภูเขาหมุ่ยครับ(梅山七聖 - 封神榜里的梅山七怪朱子真、杨显、戴礼、金大升、常昊、吴龙和白猿袁洪) และยังมีเรื่องเล่าชาวบ้านอีกว่าท่านเป็นหลานของหยกอ๋องซ่งเต่อีกด้วยครับ(玉皇大帝之姪)


รูปเคารพหยี่หลองสิ๋นเอี่ยวเจี้ยน จะเห็นมีสุนัขสวรรค์สีดำอยู่เบื้องล่าง


เรื่องราวต่างๆของเอี่ยวเจี้ยนนั้น สามารถหาได้ง่ายตามละครทีวี หนังสือ หรือหนังสือการ์ตูน เรื่องห้องสิ๋นครับ มีให้หากันดู อ่าน แพร่หลาย

ในการที่จะหาจุดสังเกตุเพื่อระบุกิมสิ้นว่าเป็นหยี่หลองสิ๋น ให้ดูจุดสังเกตุดังนี้ครับ

1. ใบหน้ามีสีขาว (หรือสีทั่วไปก็ได้ครับ) และ มีตาสามตา
2. ถือทวนสามแฉก
3. มีสุนัขดำข้างกาย
4. มีการทำสัญลักษณ์นิ้ว เป็นสัญลักษณ์ของกระบี่ (เหมือนตอนเราชูสองนิ้ว เวลารำกระบี่ไท่เก็ก)

ปัจจุบันมีคนเข้าใจสบสันและแยกแยะไม่ออกครับ ระหว่าง ฮั่วกวงไต่เต่ ซึ่งมีสามตาเหมือนกัน และหยี่หลองสิ๋น ยังงัยก็ให้ดูจุดสังเกตดังกล่างข้างต้นครับ


ภาพหยี่หลองสิ๋น


หนังสืออ้างอิง:

道教天尊地仙吉神图说/禾三千: 黑龙江美术出版社,2005.12 ISBN:7-5318-1525-7
神的故事 .100位影響中國人心靈信仰的神/星佑著 .--台北市:好讀, 2002[民91] ISBN 957-455-152-0
道教小辞典: 上海辞书出版社, 2001.12 ISBN 7-5326-0734-8

วันพฤหัสบดีที่ 11 ธันวาคม พ.ศ. 2551

จูแซเหนียวเหนียวโปก่อ - 註生娘娘寶誥



註生娘娘寶誥

志心皈命禮。
金闕內殿。都曹中宮。
宰御權衡。掌混元金斗。
主司定元神。陶鑄性靈。
顯化惠子嬰。
管人天化育之樞機。
保國安邦賜人榮。
天生地養。六合之道。
授性轉胎。註生消災化劫。
專擅先後之天。陶鈞萬品。
凡一應仙凡入聖。
諸候天子。賢愚貴賤。
落地先從。今斗轉世。
謂人以產盆。化劫為恞。
普惠萬世。
賜嬰兒保固形命。
聖恩廣被佑黎民。
妙靈宏仁。功參太極。
德配乾坤。
大聖大慈。大悲大願。
靈化顯應。安胎保固。
庇佑護世人。
註生娘娘大元君。

วันจันทร์ที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2551

หน่ำเต้าแชกุนโปก่อ - 南斗星君寶誥


南斗星君寶誥

志心皈命禮。
太微正曜。南極都曹。
主司陽官。宰御火帝。 
位離宮而名符日曜。
隨斗柄而環應七元。
助天地豐育之功。
體道德光明之照。
受性降神。
握品物生成之統紀。
陶魂鑄魄。
管人天遷化之樞機。
注秩消災。延齡溥福。
至聖至尊。大悲大願。
中天大聖。 
南斗六司延壽星君。
壽星大帝陽明普度天尊。

ปักเต้าแชกุนโปก่อ - 北斗星君寶誥


北斗星君寶誥

志心皈命禮。
開明三景。迴度五常。
為造化之樞機。
為人神之主宰。
宣威三界。統御萬靈。
判人間善惡之期。
司陰府是非之目。
能解一切罪。攝伏諸魔精。
大悲大願 大聖大慈。
中天大聖。 
北斗九皇賜福大星君。

วันจันทร์ที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2551

กงเต็กจุนอ๋องโปก่อ - 廣澤尊王寶誥



廣澤尊王寶誥

志心皈命禮。
事親以孝。待人以誠。
證果高真。享祀千年。
靈異屢著。保國庇民。
御災孚佑。福善禍淫。
消水旱災。屏盜賊患。
相世榮達。佐時太平。
大悲大願。大聖大慈。
忠應孚惠。威武英烈。
永保安寧。
威震廣澤尊王。

วันพุธที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551

อุนหู้อ๋องเอี๋ย - 溫府王爺



อุนหู้อ๋องเอี๋ย(ฮก.) (溫府王 : un-hú-ông-iâ : wēn fǔ wáng yé) เกิดเมื่อวันที่ 1 เดือน 11 ตามปฏิทินจีน (農曆十一月初一日) ซึ่งตรงกับสมัยราชวงศ์สุย ในปี คศ. 609 (AD609 生于隋唐大業五年) มีชื่อเดิมว่า อุนหอง(ฮก.) (溫鴻 : un-hông : wēn hóng) หรือ อุนเต็กซิ่ว(ฮก.) (溫德修 : un-tek-siu : wēn dé xiū), เกิดที่หมู่บ้านไป่หม่า เมืองจี่หนาน มณฑลซานตง (山東濟南府曆城縣白馬巷人)

ช่วงวัยเยาว์ อุนหอง ได้รับการศึกษาอบรมทั้งทางบู๊และบุ๋นจากบรรพบุรุพในตระกูลของท่านเอง เมื่อท่านมีความรู้แตกฉานในสรรพวิชาต่างๆ ท่านก็ได้รับอนุญาติจากครอบครัว เพื่อออกเดินทางท่องเที่ยวหาความรู้ และประสบการณ์ใหม่ๆ

ในช่วงขณะนั้น ประเทศจีนอยู่ในสมัยของราชวงศ์สุยที่อ่อนแอ และถูกกองทัพของถังทำลายลง ทำให้ถังไทจู หลี่หยวน (唐太祖李淵) สถาปนาราชวงศ์ถังขึ้น เมื่อถังไท่จูสวรรคต หลี่ซือหมิน ถังไถ่จง (唐太宗李世民) ได้ขึ้นครองราชย์และตั้งศักราชเจินกวน ขึ้น และถือได้ว่าช่วงศักราชเจินกวนนี้เป็นยุคทองที่รุ่งเรืองของจีน นับตั้งแต่สมัยฮั่นกันมาเลยทีเดียว

หลังจากขึ้นครองราชย์ได้ระยะเวลาหนึ่ง ถังไท่จงได้ตัดสินใจปลอมตัวเป็นพ่อค้า เพื่อออกดูแลความเป็นอยู่ของราษฎรหลังภาวะสงครามที่เกิดขึ้นมานานปี ขณะที่ถังไท่จงกำลังเดินทางเข้าสู่เมืองจี่หนานในฐานะพ่อค้านั้น ได้มีกลุ่มโจรเข้ามาปล้นคณะของพระองค์ และมีการต่อสู้กันขึ้น และในขณะเดียวกันนั้นเอง อุนหองและพวกได้เดินทางมาที่เมืองจี่หนานพอดี จึงได้เข้าช่วยคณะของถังไท่จงที่ปลอมตัวมา เข้าต่อสู้กับพวกโจร

ขณะที่ทำการต่อสู้อยู่นั้น โจรเงื้อดาบขึ้นจะฟันไปที่ถังไท่จง อุนหองเห็นดังนั้น จึงผลักถังไท่จงออกไปและใช้หลังของตัวเองรับดาบแทน โดยที่อุนหองแสดงอาการบาดเจ็บเพียงแค่เล็กน้อยเท่านั้น ทำให้พวกโจรตกใจกลัวและหนีไปในที่สุด

เมื่อพวกโจรหนีไป ถังไท่จงในสถานะของพ่อค้าได้เข้าไปดูอาการของอุนหอง และแสดงความซาบซึ้งใจที่เกือบจะเสียสละชีวิตของตัวเองเพื่อป้องกันท่าน พร้อมกันนั้นได้ให้คณะแพทย์ทำการรักษาอาการบาดเจ็บของอุนหองด้วย

เมื่ออาการของอุนหองทุเลาจนหายดี ถังไท่จงจึงได้แสดงตัวว่าตนเองเป็นกษัตริย์ อุนหองรู้ก็ตกใจและนั่งคุกเข่าเพื่อแสดงความเคารพ จากนั้นถังไท่จงได้แต่งตั้งท่านให้เป็น เจ้าพนักงานปกครองเมืองซานตง (山東省知府)

อุนหองรับราชการด้วยความจงรักภักดี จนเป็นที่พอพระทัยถังไท่จงมาก ถังไท่จงจึงได้เลื่อนยศให้ท่านเป็น ราชทูตแห่งต้าถัง และได้รับพระราชโองการให้ท่าน และพี่น้องร่วมสาบานอีก 35 คน ออกเดินทางท่องโลก เพื่อแสดงความยิ่งใหญ่ของราชวงศ์ถังแก่โลกภายนอก
หลังจากนั้นหนึ่งปี ขณะที่อุนหองและคณะกำลังแล่นเรืออยู่ในมหาสมุทร ได้เกิดพายุใหญ่พัดเรือของท่านจมลง ทำให้ท่านและพี่น้องทั้ง 35 คน จมน้ำเสียชีวิตทั้งหมด

ถังไท่จงได้ทราบข่าวจึงรู้สึกเสียใจเป็นอย่างยิ่ง และตำหนิตัวเองที่มีราชโองการให้อุนหอง และพี่น้องออกไปแล่นเรือในมหาสมุทร ถังไท่จงจึงได้แต่งตั้งคณะทูตที่เสียชีวิตทั้ง 36 คนนี้ เป็นที่ ไต้เทียนสุนโซ่ว (代天巡狩) หรือ ผู้ตรวจการลิขิตสวรรค์ และได้สร้างศาลให้ทั้ง 36 คน พร้อมทั้งสร้างเรือเก็บไว้ในศาลด้วย เพื่อเป็นการระลึกถึงคุณความดี ที่ทั้ง 36 คนได้ทำเพื่อชาติบ้านเมือง

เทพเจ้าคณะทูตทั้ง 36คน ได้ถูกชาวบ้านเรียกกันเป็น อ๋องเอี๋ย และเชียนโซ่ย(ฮก.) (王爺及千歲) ซึ่งคอยปกปักรักษาชาวบ้านที่ออกทะเล หรือ เพื่อให้ชาวบ้านขอพร เพื่อความเจริญก้าวหน้าในอาชีพการงาน ตั้งแต่นั้นมา

หมายเหตุ
คำออกเสียงภาษาจีน จะใช้สำเนียงภาษาจีนกลางเป็นหลัก ส่วนคำอ่านสำเนียงฮกเกี้ยนจะมีคำย่อ (ฮก.) หลังคำอ่านนั้น

วันอังคารที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551

หง่อฮกไต่เต่ - 五福大帝



อู่ฟู่ต้าตี้ (五福大帝 - หง่อฮกไต่เต่) หรือ อู่ฟู่หลิงกง (五福靈公 - หง่อฮกเหล่งกง)

จาก บันทึกกล่าวว่า ทั้งห้าคือบัณฑิตจากเมืองฟู่โจว มณฑลฟู่เจี้ยน (原為福建省福州市應考秀才 - เมืองฮกจิว มณฑลฮกเกี้ยน) โดยบัณฑิตทั้งห้ามีชื่อดังนี้ คือ จางหยวนปั๋ว (張元伯), จงซื่อซิ้ว (鍾士秀), หลิวหยวนต๋า (劉元達), สื่อเหวินเหย่ (史文業) และ เจ้าหงหมิง (趙鴻明)

ตาม ตำนานเล่ากันว่า ขณะที่ทั้งห้ากำลังเดินทางเข้าสู่เมืองหลวงเพื่อจะเข้าสอบเข้ารับราชการใน ราชสำนัก ทั้งห้าได้เดินทางผ่านหมู่บ้านหนึ่ง และได้เห็นเงาดำกำลังใส่ผงอย่างหนึ่งลงในบ่อน้ำหลักห้าบ่อในหมู่บ้าน ทันใดนั้น ทั้งห้าได้พุ่งตรงไปยังบ่อน้ำแต่ละบ่อ พยายามที่จะจับเงาดำนั้น แต่เมื่อทั้งห้าคนเข้าไปถึงบ่อน้ำ เงาดำนั้นกลายหายวับไปต่อหน้าต่อตา แต่ก็ได้ทำถุงที่ใส่ผงนั้นตกไว้ที่พื้น

จาง หยวนปั้ว ซึ่งมีอายุมากที่สุด หยิบถุงใส่ผงขึ้นมาและทราบว่าผงในถุงนั้นเป็น ผงเชื้อโรคที่ทำให้เกิดโรคระบาดได้ (瘟疫) ท่านจึงบอกให้อีกสี่คนให้ทำการปิดปากบ่อน้ำเสีย แต่ไม่ว่ากี่ครั้งที่ทั้งห้าพยายามปิดฝาบ่อ ก็มีลมพัดฝาบ่อปลิวไปเสียทุกครั้ง

เมื่อ ไม่มีทางเลือก จางหยวนปั้ว ได้เสียสละเอาตัวเองกระโดดลงในบ่อน้ำ บัณฑิตอีกสี่คนเห็นดังนั้นก็รู้สึกตกใจมาก แต่เพื่อช่วยเหลือชาวบ้าน ทั้งสี่จึงกระโดดตามลงไปในบ่อน้ำด้วย หลังจากที่ทั้งห้ากระโดดลงไปในบ่อน้ำแล้วนั้น น้ำเดิมในบ่อก็แห้งลง และเริ่มมีน้ำสะอาดบริสุทธิ์เกิดขึ้นในบ่อ

ใน ช่วงเวลาที่น้ำเริ่มใสบริสุทธิ์ วิญญาณของทั้งห้าได้ถูกเชิญไปพบกับกับ เง็กเซียนฮ่องเต้ (玉皇大天尊 - หยกอ๋องไต่เทียนจุน) ที่สรวงสวรรค์ (天庭) หลังจากที่ได้รับรู้ถึงความซื่อตรงและความกล้าหาญของทั้งห้า เง็กเซียนได้แต่งตั้งให้เป็นเทพเพื่อต่อสู้กับโรคระบาดต่างๆ (止瘟之神)

ตั้งแต่นั้นมาชาวบ้านก็เกิดความศรัทธาและได้สร้างศาลเจ้าบูชาให้ทั้งห้า เพื่อแสดงความกตัญญูแก่ทั้งห้า โดยเฉพาะในบริเวณมนทลฮกเกี้ยน

และ เนื่องจาก ทั้งห้ามาจาก เมืองฮกจิว มณฑลฮกเกี้ยน ดังนั้นหลังจากที่ได้สำเร็จเป็นเทพนั้น ชาวบ้านเลยใช้ชื่อพวกท่านว่า อู่ฟู่ต้าตี้ (五福大帝 - หง่อฮกไต่เต่) เพื่อแสดงความระลึกถึงพวกท่านนั้นเอง

วันจันทร์ที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551

เตียนฮู้หง่วนโส่ย - 田都元帥


ขอเขียนเรื่องตามกระแสจั๊กหน่อย เพราะวันที่ ๑๑ เดือน ๖ จีน (六月十一日田都元帥聖誕)ซึ่งตรงกับวันอาทิตย์ที่ ๑๓ กค. นี้จะเป็นวันเกิดพระ 田都元帥 ซึ่งที่ภูเก็ตเรียกพระ เตียนฮู้หง่วนโซ่ย แต่คำจีน ไม่เห็นยักกะมีตัว ฮู้ 府 เลย แหะๆ อ้าว เขาเรียกมากันยังงัย ก็เรียกไปละกัน ฮ่าๆ

เทพเจ้าจีน 田都元帥 นั้นถือว่าท่านเป็นเทพแห่งการแสดงครับ โดยนับถือกันมากที่ภูเก็ตครับ

ตามบันทึกประวัติศาสตร์นั้น ท่านมีชีวิตอยู่ในสมัยราชวงศ์ถังครับ มีชื่อจริงว่า เหล่ยไห่ชิง (雷海青)

ท่านเป็นนักดนตรีที่ถือว่าเป็นสุดยอดของดนตรีพื้นเมืองหมิ่นหนาน(ฮกเกี้ยน) ในสมัยฮ่องเต้ถังหมิงหวง (唐明皇) เลยทีเดียว ฮ่องเต้องค์นี้ มีประวัติน่าสนใจเช่นเดียวกันครับ ท่านเป็นสามีคนที่สองของ หยางกุ้ยเฟย 楊貴妃 ซึ่งถือว่าเธอเป็นสุดยอดสี่สาวงามของจีนตลอดกาลครับ ซึ่งฮ่องเต้ถังหมิงหวงนี้ ท่านโปรดปรานดนตรีพื้นบ้านของฮกเกี้ยนเป็นพิเศษ(閩南傳統音樂) เรียกได้ว่าท่านเป็นแฟนพันธุ์แท้เลยทีเดียว โดยเฉพาะ การเล่นดนตรีที่เรียกว่า "หนานอิน" 南音

กลับมาที่ ท่าน 田都元帥 ต่อนะครับ ปัจจุบันนั้นคณะละคร,นักดนตรีและนักแสดงพื้นบ้านฮกเกี้ยน ยังคงกราบไหว้ขอพรจากท่าน เพื่อขอให้ท่าน ซึ่งถือได้ว่าเป็นเทพของการแสดงประเภทนี้ ช่วยให้การแสดงเป็นไปอย่างราบรื่นครับ

รูป เคารพของท่านสามารถหาดูได้ง่ายในภูเก็ตครับ ผมเชื่อว่าแทบจะมีทุกศาลเจ้าในภูเก็ต และตามหน้าพระของชาวภูเก็ตครับ โดยจะสังเกตว่าเป็นรูปเคารพของท่านได้ง่ายๆดังนี้ครับ

๑. นิ้วท่านจะชี้ขึ้นและชี้ลง หมายถึง 天生吾, 地育吾 แปลว่า "สวรรค์ให้กำเนิด พสุธาให้คงอยู่" จริงๆแล้วท่าทางแบบนี้เป็นท่าทางของนาฏลีลาในสมัยถังที่ท่านได้คิดค้นขึ้น มานะครับ การแสดงฟ้อนรำนี้ใช้ชื่อว่า 田都舞 เถียนตูวู๋ ครับ

๒. มีรูปปูที่หน้าผากของรูปเคารพ ที่มานี้มาจากเรื่องเล่านะครับ คือเชื่อกันว่าตอนท่านเด็กๆนั้น ปูได้ป้อนน้ำอาหารให้ท่านรอดชีวิตจากในไร่นา ก่อนที่จะพบกับพ่อบุญธรรมครับ

๓. มีไก่กับสุนัขข้างกาย เชื่อกันว่าทั้งไก่และสุนัขนี้เป็นเพื่อนสมัยเด็กของท่านครับ โดยเชื่อกันว่าหลังจากที่ท่านได้รับตำแหน่งราชการ (บางตำนานก็ว่าหลังจากได้เป็นเทพ) ท่านก็ไม่ลืมเพื่อนทั้งสองตัวนี้ และได้รับเข้าไปอยู่ข้างกายท่านครับ ซึ่งมียศเป็น 金雞銀犬將軍 คือ แม่ทัพไก่ทองและแม่ทัพสุนัขเงินครับ

ผมคิดว่าเป็นคติสอนใจในเรื่อง การกตัญญูครับ ไม่ลืมแม้นกระทั่งสัตว์ที่เคยเป็นเพื่อนครับ กับคนจีนต้องคิดลึกๆครับ เพราะมีคติแฝงตลอด ดูผิวเผินนั้นไม่ได้เลย

วันอาทิตย์ที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551

เตียวเทียนซือ - 張天師



จางเต้าหลิง (张道陵) หรือ จางหลิง (张陵) หรือ จางฟูฮั่น (张辅汉) ซึ่งในลัทธิเต๋าจะเรียกท่านว่า จางเทียนซือ (張天師 – ภูเก็ตบ้านเรา จะเรียกเป็นสำเนียงฮกเกี้ยนว่า เตียวเทียนซือ) หรือท่านอาจารย์สวรรค์จาง ท่านเป็นผู้ก่อตั้งลัทธิเต๋านิกายเจิ้งอี (正一派) ในสมัยฮั่น (西漢 – ยุคสมัยฮั่นคือ ประมาณ 206 ปีก่อน ค.ศ. ถึง ค.ศ. 220 เป็นยุคก่อนยุคสามก๊กครับ)

ได้มีการบันทึกในลัทธิเต๋าว่า ท่านเป็นลูกหลานรุ่นที่ 9 ของท่านจางเหลียง (張良) ซึ่งเป็นเสนาธิการของ เล่าปัง ผู้ก่อตั้งราชวงค์ฮั่น (หาอ่านเรื่องเล่าปัง และจางเหลียงได้ ในพงศาวดารจีนไซฮั่น)

จางเทียนซือ เกิดวันที่ 15 เดือน 1 ปี ค.ศ. 34 (正月十五日 - ตรงกับปีพุทธศักราชที่ 577 และตรงกับยุคของอาณาจักรโรมันครับ) แต่บางตำราก็บอกว่า ท่านเกิดในวันที่ 18 เดือน 5 ปีเดียวกัน

ใน วัยเด็ก ท่านถือได้ว่าเป็นเด็กอัจฉริยะเลยก็ว่าได้ เพราะท่านได้ศึกษาวิชาความรู้ต่างๆ อ่านตำรับตำราจากบัณฑิตต่างๆ จนแตกฉาน ว่ากันว่าตอนท่านอายุเพียงเจ็ดขวบ ก็สามารถท่องและจดจำ คัมภีร์เต้าเต๋อจิง (老子道德經) ของท่านศาสดาเล่าจื้อ ได้ครบถ้วน ไม่ธรรมดานะครับ ใครเคยอ่านเต้าเต๋อจิง จะเห็นว่ามันลึกซึ้งและยากที่จะจดจำครับ

นอก จากนี้ ท่านยังศึกษาวิชาดาราศาสตร์, วิชาแพทย์, วิชาว่าด้วยเรื่องปรากฎการของธรรมชาติ และอื่นๆอีกด้วย ซึ่งความรู้เหล่านี้เป็นส่วนสำคัญ ที่มีอิทธิพลต่อความคิดท่านในการก่อตั้งลัทธิเต๋า ในเวลาต่อมา

ขณะที่ท่านอายุได้ 25 ปี ท่านได้สอบเข้ารับราชการ ในตำแหน่งผู้พิพากษา ในพื้นที่ฉงชิ่ง (重慶 - ปัจจุบันเป็นเทศบาล นคร ตั้งอยู่ภาคตะวันตกเฉียงใต้ของจีน มีพื้นที่ติดกับมณฑลหูเป่ย์ หูหนัน กุ้ยโจว ซื่อชวนและฉ่านซี ภายในตัวเมืองมีแม่น้ำไหลพาดผ่านหลายสายเป็นเมืองขนาดใหญ่อันดับ 8 ของจีน มีเนื้อที่ 82,300 ก.ม. มีประชากร เมื่อปี พ.ศ. 2548 31,442,300 คน)

เมื่อ ท่านได้รับราชการมาในระยะเวลาหนึ่ง ท่านได้เบื่อหน่ายทางโลก และลาออกจากชีวิตข้าราชการ โดยท่านหันมาศึกษา เรื่องทางจิตวิญญาณ อย่างจริงๆ จังๆ

ปี ค.ศ. 89 – ค.ศ. 105 (ช่วงอายุ 55 – 71 ปี) ท่านพร้อมลูกศิษย์มากมาย ได้เดินทางท่องเที่ยวทั่วประเทศจีน เพื่อศึกษาเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงของธรรมชาติ (ซึ่งเป็นหลักคำสอนของเต๋า) และพบปะผู้คนเพื่อหาประสบการณ์

ในช่วงที่ท่านเดินทางท่องเที่ยวกับลูกศิษย์นั้น เมื่อมาถึงมณฑลเจียงซี (江西省 - ปัจจุบัน ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออก เฉียงใต้ของประเทศจีน บนชายฝั่งตอนใต้ของลุ่มน้ำแยงซีเกียง ตอนล่าง โดยด้านตะวันออกติดกับมณฑลเจ้อเจียง และฝูเจี้ยน ด้านใต้ติดกับกว่างตง ด้านตะวันตกติดกับหูหนัน ด้านเหนือติดกับหูเป่ย และอันฮุย มีเมืองหลวงชื่อ หนันชาง มีเนื้อที่ 166,900 ก.ม. มีประชากร 42,840,000 คน) ท่านได้ตัดสินใจตั้งสำนักของท่าน ณ ภูเขาหลงหู่ (龍虎山 - ภูเขา มังกรพยัคฆ์ ปัจจุบันทางการจีนเปิดให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว ซึ่งมีทัศนียภาพสวยงาม รวมไปถึงถ้ำ และวัดเต๋ามากมาย ที่ภูเขานี้มีรีสอร์ทด้วยครับ สามารถนั่งรถไปได้จากเมืองอิงถาน) และเริ่มศึกษาปรุงกลั่นยาอายุวัฒนะ และตัวยาอื่นๆ เป็นต้นมา และว่ากันว่าท่านสามารถปรุงกลั่นยาอายุวัฒนะ (長生藥) ได้สำเร็จเมื่อขณะที่ท่านอายุได้ 60 ปี

ในปี ค.ศ. 142 ท่านไท่ซ่างเล่าจวิ้น (太上道祖 - ศาสดาศาสนาเต๋า) ได้ปรากฎกายขึ้นในสำนักของจางเทียนซือ เพื่อที่จะถ่ายทอดคำสอนของศาสนาเต๋าให้แก่ท่าน ตั้งแต่นั้นมาท่านจางเทียนซือ ก็เริ่มเปิดโรงเรียนสอนศาสนาเต๋าของท่านขึ้นเป็นครั้งแรก

เมื่อท่านจางเทียนซือมีอายุได้ 90 ปี ได้เกิดมีโรคระบาดขึ้น ณ มณฑลเสฉวน (四川省) ท่านและลูกศิษย์ได้ช่วยกันรักษาชาวบ้านจากโรคระบาด แต่เนื่องจากชาวบ้านแถบนั้น เป็นคนยากจน ท่านก็ไม่ได้เรียกร้องเงินทองแต่อย่างใด เพียงแต่นำข้าวสารจำนวน 5 โต่ว (หน่วยตวงชั่งของจีน) มาเพื่อรับการรักษาก็พอ ตั้งแต่นั้นมา สำนักของท่านก็ได้รับการเรียกว่า “สำนักข้าวสารห้าโต่ว” (五斗米教 - wǔ dǒu mǐ jiào)

ในปี ค.ศ. 159 (ก่อนยุคสามก๊ก 61 ปี) ท่านจางเทียนซือได้มอบตำแหน่งเจ้าสำนักข้าวสารห้าโต่ว ให้แก่บุตรชายคนโต ชื่อว่า จางเหิง (張衡) สืบทอดต่อ ส่วนตัวท่านและภรรยาได้สำเร็จเป็นเซียนเต๋า (得道) โดยเชื่อกันว่าขณะนั้น ท่านมีอายุได้ 123 ปีเลยทีเดียว

ตั้งแต่นั้นสำนักเต๋าของท่านก็ได้เผยแผ่ ลัทธิเต๋าตลอดมา (ปัจจุบันเรียกนิกายของท่านว่า เต๋านิกายเจิ้งอี - 正一派) จนถึงปัจจุบัน ซึ่งเป็นรุ่นที่ 64 ซึ่งเจ้าลัทธิมีชื่อว่า ท่านจางหยวนเซียน (張源先天師) ปัจจุบันพำนักอยู่ที่ประเทศไต้หวัน และทุกๆปี จะมีผู้ที่นับถือศาสนาเต๋า นิกายเจิ้งอีจำนวนมาก แวะเวียนไปเคารพท่านอยู่เสมอ

วันพฤหัสบดีที่ 13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551

หลิมฮู้ไท่ซือ - 林府太师


หลินไท่ซือ (林太师) หรือ หลินไท่ซือกง (林太师公) หรือ หลิมฮู้ไท่ซือ (林府太师) ท่านเกิดเมื่อวันที่สี่ เดือนสี่ (四月初四) ปี ค.ศ.1537 หรือปีพุทธศักราชที่ 2080 ณ บ้านหยุนเซียว มณฑลฟู่เจี้ยน หรือฮกเกี้ยน (福建云霄 - Fújiàn yúnxiāo) ในปีที่ 16 ของรัชสมัยฮ่องเต้เจียจิ้ง ราชวงศ์หมิง(明朝嘉靖年间)ซึ่งตรงกับปีเกิดปีเดียวกับ King Edward ที่หก ของอังกฤษ, โชกุน อาชิกาย่า โยชิอากิของญี่ปุ่น และกษัตริย์จอนห์ที่3 ของประเทศสวีเดน

ท่านมีชื่อจริงว่า หลินเสียชุน (林偕春 - lín xié chūn) หรือฉายาว่า หลินฝู๋หยวน (林孚元 - lín fú yuán) โดยในปีค.ศ.1565 ท่านได้เข้ารับราชการในตำแหน่งขุนนางในราชสำนักหมิงเป็นครั้งแรก ซึ่งขณะนั้นท่านมีอายุได้ 28 ปีพอดี และท่านยังได้รับเชิญเข้าร่วมสภาฮั่นหลิน (翰林院 - hàn lín yuàn) ซึ่งเป็นสภาที่ทรงอิทธิพลมากสำหรับบัณฑิตในยุคนั้น ซึ่งหน้าที่ของสภาฮั่นหลินคือ บันทึกและแก้ใขประวัติศาสตร์ของราชวงค์ รวมไปถึงการวางแผนการศึกษา และการสอบเพื่อเฟ้นหาบัณฑิตเข้ารับราชการอีกด้วย

สมาชิกของสภาฮั่นหลินก่อนหน้าท่านหลิมไท่ซือนี้ เป็นบุคคลที่มีชื่อเสียงสุดยอด ในยุคต่างๆทั้งสิ้น อาทิเช่น หลี่ไป่ (李白), ไป่จูอี้ (白居易), โอวหยางซิว(欧阳修) และ เสิ่นโข่ว (沈括) เป็นต้น และเป็นที่น่าเสียดายว่า บันทึกเก่าๆที่มีคุณค่าซึ่งเก็บรักษาอยู่ในห้องสมุดของสภาฮั่นหลินได้ถูกไฟไหม้ทำลายและโดนปล้นไปบางส่วนจากเหตุการณ์กบฎนักมวยที่มีกองกำลังนานาชาติได้ปิดล้อมพระราชวังต้องห้ามในกรุงปักกิ่ง เมื่อปี ค.ศ.1900 และสภาฮั่นหลินก็ต้องปิดฉากลงอย่างถาวรหลังจากเหตุการณ์กบฎซินห้าย(辛亥革命)ในปีค.ศ. 1911

ในปี ค.ศ.1568 ท่านได้รับเลือกเป็นมหาบัณฑิตในสภาฮั่นหลินและมีหน้าที่สำคัญคือการบันทึกและแก้ไขประวัติศาสตร์ของประเทศ
ปี ค.ศ.1573 ท่านได้รับการเลื่อนตำแหน่งเป็นไท่ซือ (太师) ซึ่งคอยให้การศึกษาแก่องค์รัชทายาท (太子) ซึ่งเป็นตำแหน่งที่สูงที่สุดในชีวิตการรับราชการของท่าน และในปี ค.ศ.1607 ท่านก็ได้สิ้นชีวิตลง รวมอายุได้ 71 ปี ร่างของท่านได้รับการฝังอยู่ที่ภูเขาชีซิง(แปลว่าเขาเจ็ดดาว) มณฑลฮกเกี้ยน (葬与福建省内七星山)

ตามประวัติได้มีการบันทึกว่า ขณะที่ท่านดำรงตำแหน่งไท่ซือนั้น ท่านได้ปราบปรามพวกอันธพาลนักเลงที่กำลังทำลายศาลเจ้าแห่งหนึ่ง ซึ่งศาลเจ้าแห่งนี้อยู่ในพื้นที่ที่ท่านดูแลในฐานะของไท่ซืออยู่ หลังจากที่ท่านได้จับพวกอันธพาลได้หมดแล้ว ท่านจึงได้ทราบว่าศาลเจ้าแห่งนี้ได้สร้างขึ้นเพื่อสักการะบูชาเทพเจ้ากิ้วอ๋องไต่เต่ (九皇大帝)

และในคืนนั้นเอง กิ้วอ๋องไต่เต่ ได้มาปรากฎขึ้นในความฝันของท่าน เพื่อแสดงความขอบคุณที่ได้ช่วยเหลือศาลเจ้าให้รอดพ้นจากการทำลาย และในฝันนั้น องค์กิ้วอ๋องไต่เต่ ยังได้แต่งตั้งตำแหน่งให้ท่านเป็นกิ้วอ๋องไท่ซือกง (九皇太师公) อีกด้วย

วันต่อมาท่านได้กลับไปที่ศาลเจ้า และได้เกิดเรื่องอัศจรรย์ขึ้น คือในศาลเจ้าได้มีเก้าอี้ซึ่งอุทิศไว้สำหรับท่าน ปรากฎขึ้นในศาลเจ้าของกิ้วอ๋องไต่เต่นั้นเอง ตั้งแต่นั้นมาชาวบ้านก็เคารพนับถือท่านในฐานะของ หลิมฮู้ไท่ซือ (林府太师) หรือกิ้วอ๋องไท่ซือกง (九皇太师公) เป็นต้นมาจวบกระทั่งปัจจุบัน ซึ่งศาลเจ้าหรือแท่นบูชา(สินตั๋ว)โบราณๆ ที่บูชากิ้วอ๋องไต่เต่ มักจะมีการบูชาหลิมไท่ซือด้วย เพื่อเป็นการแสดงเคารพนับถือท่านเช่นกัน

หลิมไท่ซือ ยังได้รับการยกย่องบูชาเป็นหนึ่งในเทพเจ้าของบรรพบุรุษคนแซ่หลิม (林氏祖先) หรือ แซ่หลิน ในภาษาจีนกลาง อีกด้วย