วันศุกร์ที่ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2555

ที่มาของพิธีการเข้าทรงของคนจีน

เป็นอีกบทความที่เอามาเล่าใหม่จากเวบบล็อกอันเก่านะครับ ก็จะค่อยๆ ทยอยมาโพสไว้ในเวบครับ ขอบคุณครับ

การบูชาต่างกี่หรือการเข้าทรงของคนจีนนั้น ถือได้ว่าเป็นความเชื่อศาสนา ที่โบราณที่สุดของจีน พิธีกรรมทรงเจ้าต่างๆ ในปัจจุบัน คือ มรดกทางประวัติศาสตร์กว่า 5,000 ปี ของการปฏิบัติพิธีกรรมนี้

ต่างกี่หรือม้าทรง ในฐานะของสื่อกลางระหว่างเทพนักรบ หรือเทพบรรพบุรุษ ได้ถูกพัฒนาขึ้น จากความเชื่อของชาวชนเผ่าโบราณ ก่อนยุคที่มีความเชื่อทางศาสนาของจีน ซึ่งต้นกำเนิดสามารถสืบค้นไปถึงพิธีกรรมของชนเผ่าเย้า (瑤) (1) ซึ่งเคยใช้ชีวิตอยู่บริเวณภาคใต้ของประเทศจีนในช่วง 3,000 ปี ก่อนคริสตกาล ซึ่งมีพิธีทางเวทย์มนต์และจิตวิญญาณของชนเผ่าเย้าแบบหนึ่งที่เรียกว่า “การเต้นหยู” (Yu Step-禹步) ซึ่งเป็นพิธีของผู้ชายโดยการการเต้นรำเบื้องหน้าแท่นบูชา

การเต้นหยูนั้นถือได้ว่าเป็นการแสดงเวทมนต์ที่มีพลังมากที่สุดในศาสนาเต๋า การเต้นนั้นได้รับการพัฒนาจากชนเผ่าเย้า ซึ่งดั้งเดิมซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของพิธีกรรมทางเวทย์มนต์ที่หมอผีได้กระทำขึ้นเพื่อให้มีอำนาจวิเศษและสามารถนำไปใช้ในการควบคุมสิ่งต่างๆ เช่น งูพิษ, ปลาผี และวิญญาณต่างๆ ซึ่งต่อมามีบันทึกว่าพิธีทางศาสนาของเผ่าเย้าได้ถูกซึมซับมาโดยชนเผ่าเย่ว์ (越) ซึ่งมีความเจริญต่อมาจนเป็นหนึ่งในนครรัฐอิสระของจีนในสมัยชุนชิว (春秋) (2) ยุคราชวงศ์โจว (周朝)

ปีที่ 306 ก่อนคริสกาล ในยุคจ้านกว๋อ(战国) (3) นครรัฐเย่ว์ ได้ถูกยึดครองโดยนครรัฐฉู่ (楚) โอรสองค์หนึ่งของเจ้านครรัฐเย่ว์ชื่ออู่จู (无诸)(4) ได้หลบหนีออกทางทะเลและได้ขึ้นฝั่งบริเวณใกล้เมืองฟู่โจว (福 州) มณฑลฮกเกี้ยน (福建) และได้สร้างอาณาจักรขึ้นมาใหม่โดยให้ชื่อหมิ่นเย่ว์ (闽越) โดยอาณาจักรหมิ่นเย่ว์ปักหลักเจริญรุ่งเรืองอยู่บริเวณตอนใต้ แถบเมืองเซี่ยเหมิน (厦门) ซึ่งในปัจจุบันเป็นจุดศูนย์กลางของชาวหมิ่นหนานหรือชาวฮกเกี้ยนและเป็นถิ่นกำเนิดของการบูชาต่างกี่จนถึงทุกวันนี้ จากข้อมูลทางประวัติศาสตร์ข้างต้นนี้ นำไปสู่ข้อสรุปได้ว่าการลงเข้าบูชาต่างกี่ในปัจจุบันนั้นมีต้นกำเนิดมาจากการเดินหยูซึ่งเป็นพิธีกรรมทางศาสนาเผ่าเย้านั้นเอง

การรับเอาพิธีกรรมของชาวชนเผ่ามาเป็นของคนจีน

การสืบค้นที่มาของการบูชาต่างกี่นั้น สามารถสืบได้มาจากพิธีกรรมการบูชาบรรพบุรุษของชนเผ่าเย้าและพิธีกรรมการเดินหยู โดยได้ถูกซึมซับเข้าสู่วัฒนธรรมจีนโดยผ่านระบบศักดินาของนครรัฐเย่ว์ ก่อนที่จะมาพัฒนาเป็นรูปแบบที่เราเห็นในปัจจุบัน ณ มณฑลฮกเกี้ยนของจีน ซึ่งเป็นศูนย์อำนาจของอาณาจักรหมิ่นเย่ว์โบราณ

เมื่อต้นแบบของพิธีกรรมการเต้นของเผ่าเย่ว์ ซึ่งเป็นกลุ่มชนเผ่าโบราณ ได้ถูกซึมซับมาเป็นพิธีกรรมของชนชาติจีนอันยิ่งใหญ่ ดังนั้นมันจึงได้ถูกเปลี่ยนเป็นพิธีกรรมของจีน ผ่านทางตำนานที่ยิ่งใหญ่เช่นกัน โดยตำนานกล่าวว่า พิธีการเต้นหยูนั้นเป็นการคิดค้นโดยต้าหยู (大禹)(5)ซึ่งเป็นหนึ่งในสามของกษัตริย์ในตำนานของผู้สร้างจักรวรรดิจีน และได้รับการนับถือว่าเป็นปฐมกษัตริย์ของราชวงศ์เซี่ย (夏) ซึ่งเป็นต้นแบบราชวงศ์ของจีนในยุคต่อมา ที่สำคัญก็คือ กษัตริย์หยู คือวีรบุรุษในตำนานของชาวเย่ว์อีกด้วย โดยชื่อต้าหยู (大禹) นั้นมีความสัมพันธ์กับอาณาจักรหมิ่นเย่ว์ (闽越) ผ่านทางอักษร 虫 (ฉง) ซึ่งแปลว่าหนอน และยังนำอักษรตัวนี้มาเป็นส่วนประกอบของอักษร 蛇 (เสอ) ซึ่งแปลว่างู และงูก็เป็นสัตว์สัญลักษณ์ของชาวเผ่าเย้าอีกด้วย

ภาพการประกอบพิธีของหมอผีชาวเย้า(เมี่ยน) ทางภาคเหนือของประเทศไทย

หน้ากากรูปเทพเจ้าที่พระชาวเย้าใช้ประดับบนศีรษะขณะประกอบพิธีกรรมทางศาสนา ภาพจาก http://www.nomadsjourney.com

อรรถธิบาย

(1) ชาวเย้า瑤族 หรือชาวเมี่ยน ได้รับการจัดให้อยู่ในเชื้อชาติ มองโกลอยด์ คืออยู่ในตระกูลจีนธิเบต ได้ปรากฏครั้งแรกในเอกสารบันทึกของจีน สมัยราชวงศ์ถัง โดยปรากฏในชื่อ ม่อเย้า มีความหมายว่าไม่อยู่ใต้อำนาจของผู้ใด เล่ากันว่า เมื่อประมาณ 2000 กว่าปีมาแล้วบรรพชน ได้ตั้งถิ่นฐานอยู่ที่ราบรอบทะเลสาปตงถิง แถบแม่น้ำแยงซี ยอมอ่อนน้อมให้ชนชาติผู้ปกครองรัฐ และไม่ยินยอมอยู่ภายใต้การบังคับกดขี่ของรัฐ จึงได้ทำการอพยพเข้าไปในป่าลึกบนภูเขาสูง ได้ตั้งถิ่นฐานสร้างบ้านด้วยมือของเขาเอง เพื่อปกป้องเสรีภาพจึงถูกขนานนามว่า ม่อเย้า ซึ่ง เหยาซีเหลียน ได้บันทึกไว้ในเหลียงซูต่อมาในสมัยราชวงศ์ซ่ง คำเรียกนี้ี้ถูกยกเลิกไปเหลือแต่คำว่า "เย้า" เท่านั้น

(2) ยุคชุนชิว(春秋時代) ประมาณ 770 ปีก่อนคริสต์ศักราช – 476 ปีก่อนคริสต์ศักราช เป็นยุคหนึ่งในราชวงศ์โจว ราชวงศ์ที่ยาวนานที่สุดในประวัติศาสตร์จีน นับเป็นยุคสมัยที่ได้รับการกล่าวขานอย่างมากในแง่ต่าง ๆ เนื่องจากเป็นยุคที่นครรัฐแต่ละรัฐรบด้วยด้วยกลอุบายที่แยบยล ก่อให้เกิดเป็นตำนานและเรื่องเล่าขานมากมายจนปัจจุบัน และเป็นต้นเรื่องที่ทำให้เกิดวรรณคดีจีนเรื่องสำคัญอีกเรื่อง คือ เลียดก๊ก ซึ่งการรบในยุคเลียดก๊กนั้นหลายเรื่องได้ถูกอ้างอิงในสามก๊กที่เกิดหลังจากนี้อีกนับพันปีต่อมา

(3) ยุคจ้านกว๋อ(战国时代) หรือ เลียดก๊ก (475-221 ปีก่อนค.ศ.) เป็นยุคย่อยยุคที่ 2 ในสมัยราชวงศ์โจวตะวันออก ต่อจากยุคชุนชิว โดยในยุคนี้เป็นยุคที่เหลือแคว้นใหญ่ที่ทำสงครามแย่งชิงอำนาจกันเพียง 7 แคว้น คือ ฉู่, ฉี, หาน, เอี้ยน, จ้าว,เว่ย และฉิน โดยทั้ง 7 แคว้นนี้ทำสงครามกันมายาวนาถึง 255 ปี ก่อนที่ฉินหวางเจิ้ง(ฉินอ๋องเจิ้ง)จะรวบรวมแผ่นดินจนเป็นปึกแผ่นได้สำเร็จเมื่อ 221 ปีก่อนค.ศ.

(4) 閩越王 - 無諸 史记•东越列传:闽越王无诸及越东海王摇者,其先皆越王勾践之后也,姓驺氏 - http://zh.wikipedia.org/zh/无诸

(5)กษัตริย์อวี่ (禹) มีชีวิตอยู่ในช่วง 2194 ปีก่อนคริสตกาล ถึง 2149 ปีก่อนคริสตกาล เป็นปฐมกษัตริย์ราชวงศ์เซี่ย (夏) ซึ่งนับเป็นราชวงศ์แรกของประเทศจีนที่มีการสืบราชบัลลังก์โดยสายเลือด เชื่อกันว่าเกิดที่หมู่บ้านเป่ยฉวน (北川) ซึ่งปัจจุบันอยู่ในมณฑลเสฉวน (四川) ได้รับยกย่องเป็นหนึ่งในสามกษัตริย์ ห้าจักรพรรดิผู้ยิ่งใหญ่ของจีน (三皇五帝) เดิมเขาเป็นขุนนางในสมัยที่พระเจ้าซุ่นเป็นกษัตริย์ปกครองประเทศจีน มีผลงานที่โด่งดังคือการคิดค้นระบบชลประทานเพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วม
อ้างอิง

1) Margaret Chan - THE ORIGIN OF TANG-KI WORSHIP
2) http://www.pbs.org
3) http://www.peoplesoftheworld.org
4) http://www.nomadsjourney.com
5) http://www.tribalartasia.com
6) http://www.mekongantiques.com
7) http://zh.wikipedia.org

*** บทความนี้ยังไม่เสร็จสมบูรณ์ แก้ไขล่าสุด 29 nov 2010 ***
เรียบเรียงโดย cyberjoob@hotmail.com

ไม่มีความคิดเห็น: