วันเสาร์ที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2552

ฮกซานเก้ง – 福山宫

ฮกซานเก้ง – 福山宫



ภาพบริเวณศาลเจ้า



ฮกซานเก้ง เป็นศาลเจ้าฮกเต็กเจี้ยสิน (福德正神) ที่เก่าแก่แห่งหนึ่งในจังหวัดภูเก็ต ปัจจุบันตั้งอยู่ที่ บริเวณถนนวิชิตสงคราม อำเภอกะทู้ เดิมนั้นมีชื่อว่า ศาลเจ้าฮกซานซู่ (福山祠) บริเวณที่ตั้งของศาลเจ้าฮกซานเก้งนั้น เป็นชุมชนทำเหมืองแร่ดีบุกโบราณที่เรียกว่า ชุมชนหลิมซาน (林山) ซึ่งเดิมจุดที่ตั้งศาลเจ้าอยู่นี้ เป็นจุดที่เป็นเส้นทางผ่านในการเดินทางระหว่างชุมชนกะทู้ และ ตัวเมืองภูเก็ต หรือเรียกว่า ทุ่งคา ในสมัยก่อน




มองจากบนศาลเจ้า จะเห็นตัวเมืองภูเก็ตอยู่ด้านหน้า ส่วนด้านหลังศาลเจ้าจะเป็นเขตอำเภอกะทู้


หลังจากที่ได้มีการตัดเส้นทางใหม่ (ถนนวิชิตสงครามในปัจจุบัน) เส้นทางนั้นก็มิได้มีการใช้เป็นเส้นทางหลัก อีกต่อไป เนื่องจากไม่สะดวกแก่การเดินทางที่ต้องผ่านป่ารกชัฏและเป็นทางขึ้นเขาสูงชัน เมื่อเวลาผ่านไปนานเข้า ศาลที่มิได้มีผู้ดูแลและไม่มีผู้ผ่านเป็นเวลานาน ย่อมชำรุดผุพังไปตามกาลเวลา โดยปัจจุบันยังปรากฎแนวเส้นทางโบราณนี้อยู่ทางด้านหลังของตัวศาลเจ้า

จวบจนกระทั่งปี ค.ศ. 1997 (ปี พ.ศ.๒๕๔๐) ได้มีผู้พบเห็นร่องรอยบริเวณศาลเจ้าเดิม โดยปรากฎมีผนังศาลเจ้าซึ่งทำด้วยอิฐเก่าโบราณและแท่นบูชาซึ่งก่อด้วยอิฐโบราณเช่นกัน อีกทั้งมีการขุดพบเครื่องถ้วยชามแตกหักสมัยโบราณจำนวนหนึ่ง



สภาพของถ้วยถามโบราณที่ขุดพบบริเวณรอบๆศาลเจ้า ปัจจุบันได้รับการเก็บดูแลรักษาโดยเจ้าหน้าที่ของศาลเจ้า


ตั้งแต่นั้นมาจึงได้เริ่มมีการบูรณะตัวศาลเจ้าโดยทำการก่อผนังอิฐเพิ่มเติม โดยใช้ซากอิฐเดิมบางส่วนผสมกับอิฐใหม่ และหล่อแท่นบูชาใหม่ครอบของเดิมเอาไว้ แต่ก็ยังเปิดร่องรอยให้เห็นของเดิมอยู่บ้างบางส่วน การบูรณะได้เสร็จสมบูรณ์ในปี ค.ศ. 2004 (ปี พ.ศ.๒๕๔๗)

ภายในตัวศาลเจ้าและบริเวณรอบๆ ไม่ได้ปรากฎหลักฐานชัดเจนว่าศาลเจ้านี้ได้สร้างขึ้นมาในปีใด แต่มีประวัติการสร้างศาลเจ้าของฮกเต็กเจี้ยสินของชุมชนคนงานทำเหมืองแร่ดีบุก จำนวนแปดแห่งบริเวณ อำเภอกะทู้ และศาลเจ้าฮกซานเก้งก็คือหนึ่งในนั้น (ปัจจุบันปรากฎเหลือศาลเจ้าฮกเต็กเจี้ยสินอยู่เพียง 6 แห่งเท่านั้น)



แท่นบูชาของศาลเจ้าในปัจจุบัน ซึ่งได้รับการสร้างขึ้นมาใหม่ รวมไปถึงรูปเคารพต่างๆ




ฝาผนังก่ออิฐเดิม ซึ่งมีบางส่วนของกำแพงได้ใช้อิฐเก่าที่เจอในบริเวณศาลเจ้า ก่อเพิ่มเติมให้สมบูรณ์





ภาพนี้แสดงให้เห็นร่องรอยของแท่นบูชาเดิมที่ถูกก่ออิฐทับไว้ด้วยของใหม่



ปัจจุบันภายในศาลเจ้าฮกซานเก้งไม่มีวัตถุโบราณใดๆเหลืออยู่ คงจะมีแต่ผนังศาลเจ้าเดิมและแท่นบูชาเดิมที่มีให้เห็น ส่วนเครื่องใช้ต่างๆในศาลเจ้ารวมไปถึงรูปเคารพของฮกเต็กเจี้ยสินเองนั้นก็เป็นของที่ชาวบ้านนำมาถวายใหม่ทั้งหมด และใกล้ๆกันนั้นเอง ยังมีศาลเจ้าเล็กๆอีกหนึ่งศาล ซึ่งชาวบ้านเรียกกันว่า ศาลโต๊ะสมิง หรือปู่สมิง



โกเฟ็ดผู้ดูแลศาลเจ้า







รูปหล่อบูชาของโต๊ะสมิง


จากคำบอกเล่าของโกเฟ็ด ผู้ดูแลศาลเจ้าฮกซานได้เล่าให้ฟังว่า หลายปีมาแล้วชาวบ้านที่จะขึ้นไปสร้างศาลเจ้าที่บริเวณยอดเขาได้แวะเพื่อบูชาพระฮกเต็กเจี้ยสินในศาลเจ้าฮกซานเก้ง และในตอนนั้นเองท่านโต๊ะสมิงได้เข้าประทับทรงเพื่อบอกกล่าวว่าท่านนั้นเป็นเทวดาเจ้าที่ อยู่บริเวณนั้น ซึ่งต่อมาชาวบ้านได้สร้างศาลเล็กๆให้ท่านอยู่ข้างกับศาลเจ้าฮกซานเก้ง และในปี พ.ศ. ๒๕๔๘ ชาวบ้านได้สร้างศาลเจ้าหลังใหม่ให้ท่าน แยกออกมาอยู่ ณ บริเวณทางหน้าศาลเจ้าจนกระทั่งปัจจุบัน



บริเวณกระเบื้องสีแดงในภาพคือตำแหน่งเดิมของศาลปู่สมิง และได้ย้ายแยกไปตั้งอยู่ ณ ศาลเล็กๆสีแดงทางซ้ายในปัจจุบัน

ศาลเจ้าฮกซานเก้ง และศาลเจ้าฮกเต็กเจี้ยสินในบริเวณอื่นๆ แสดงถึงความเชื่อ ความศรัทธาต่อเทพเจ้าฮกเต็กเจี้ยสิน และการหาเครื่องยึดเหนี่ยวทางจิตใจของคนจีนที่อพยพมาประกอบอาชีพการทำเหมืองแร่ดีบุกที่ จังหวัดภูเก็ตได้เป็นอย่างดี ปัจจุบันได้มีการสร้างถนนดินแยกออกจากถนนวิชิตสงคราม ทำให้สามารถนำรถขึ้นไปบนเนินเขาและตัวศาลเจ้าได้อย่างสะดวก


ไม่มีความคิดเห็น: