วันพฤหัสบดีที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557

ป้านชาอี๋ซิง (宜兴)

ป้านชาอี๋ซิง (宜兴) 

ผมจะโม้เรื่องป้านชากันต่อเลยนะครับ ป้านชาจากเมืองอี๋ซิง มณฑลเจียงซู (江苏省) ที่ขึ้นชื่อว่า เป็นแหล่งดินที่ดีที่สุดในโลกที่นำมาปั้นเป็นป้านชาจีนนั้น มีประวัติการทำเครื่องปั้นดินเผากันมายาวนาน
นักโบราณคดีได้ขุดพบเครื่องใช้ดินเผาที่ใช้ดินจื่อซา โดยสัณนิฐานว่าเริ่มผลิตกันตั้งแต่สมัยราชวงศ์ซ่ง หรือพันกว่าปีมาแล้วนะครับ แต่ป้านชาอี๋ซิงมาดังป๊อปปูล่าสุดๆ ก็อีกประมาณห้าร้อยปีต่อมา ในสมัยจักรพรรดิเจิ้งเต๋อ (正德) แห่งราชวงศ์หมิง จนถึงปัจจุบันครับ

คำว่าป้านชาอี๋ซิงนั้น เป็นชื่อเรียกรวมๆของป้านชาที่ใช้ดินจากอี๋ซิงมาปั้น ซึ่งมีด้วยกันสามชนิดคือ

• ดินจื่อซา (紫砂) หรือจื่อหนี (紫泥) เป็นดินสีม่วงปนน้ำตาลแดง ป้านชาจื่อซาจะมีชื่อเสียงมาก ดังที่ผมได้โม้ไว้ในฉบับที่แล้วครับ

ป้านชาดินจื่อหนี

• ดินจูซา (朱砂) หรือจูหนี (朱泥)เป็นดินสีแดงชาดปนน้ำตาล เพราะมีธาตุเหล็กผสมอยู่ในปริมาณมาก ปัจจุบันมีบ่อดินจูหนีเหลืออยู่แค่สิบแห่ง ทำให้ป้านชาจูซาแท้ๆค่อนข้างหายาก ป้านชาจูหนีนั้น ผู้อ่านต้องระวังอย่าไปสับสนกับป้านชาหงหนี (ซึ่งแปลว่าดินเหนียวแดง) เพราะเป็นดินคนละชนิดกับดินจูหนีครับ

ป้านชาดินจูหนี

• ดินต้วนหนี (锻泥) เป็นดินที่เกิดจากการผสมดินจื่อหนีหรือจูหนี เข้ากับแร่ธาตุต่างๆ เช่นผสมทองแดง โคบอลท์ แมงกานีส เหล็ก เพื่อให้ได้ดินสีต่างๆกันออกมาเช่น เหลือง เขียว ดำ แดง เป็นต้น

ป้านชาดินต้วนหนี

ใครอยากเห็นป้านชาอี๋ซิงระดับพรีเมี่ยมตัวเป็นๆกัน ผมแนะนำให้ไปเที่ยวเมืองอี๋ซิง ที่เจียงซู แล้วเข้าชมพิพิธภัณฑ์เครื่องปั้นดินเผาอี๋ซิง (中国宜兴陶瓷博物馆 ) ซึ่งจัดแสดงเครื่องปั้นดินเผากว่า 8,000 ชิ้น มีพื้นที่ประมาณ 40,000 ตร.ม. อย่าลืมฟิตร่างกายก่อนไปเที่ยว และใส่รองเท้ากีฬาไปชมนะครับ ของเค้าใหญ่โตและอลังการจริงๆ


ภาพด้านหน้าทางเข้าของพิพิธภัณฑ์เครื่องปั้นดินเผาอี๋ซิง ประเทศจีน

ปัจจุบันป้านชาอี๋ซิง ผลิตขึ้นจากเตาเผาแถบติงซาน(丁山)บริเวณฝั่งตะวันตกของทะเลสาบไท่หู (太湖) ถ้าใครเคยไปเที่ยว ก็จะเห็นร้านขายเครื่องดินเผาเต็มสองข้างถนน มีคนจีนและนักท่องเที่ยวต่างชาติมาเลือกซื้อหาป้านชาและเครื่องปั้นดินเผากันมากมาย ของที่เอามาขายกันก็มีหลายเกรด มีทั้งป้านชาที่ปั้นเลียนแบบศิลปินยุคเก่าคลาสสิค กับป้านชาที่ปั้นขึ้นมาใหม่ โดยศิลปินยุคใหม่ไฟแรง ก็แล้วแต่จะชอบแบบไหนครับ

สำหรับแหล่งซื้อหาป้านชาอี๋ซิงใกล้ๆภูเก็ต ก็เป็นแถวเยาวราช กรุงเทพฯ และที่มาเลเซีย สำหรับที่มาเลเซีย ผมแนะนำลองเข้าร้านขายชาจากไต้หวันที่ชื่อว่าเทียนเหริน(天仁茗茶) ซึ่งมีอยู่สองสาขา ที่กัวลาลัมเปอร์ จะอยู่ที่สี่แยกบูกิตบินตัง (Bukit Bintang) ใกล้ๆกับร้านแมคโดนัลด์ตรงสี่แยกพอดี สาขานี้เป็นตึกคูหาเดียว เจ้าของร้านใจดีชอบคุยเรื่องชามาก สามารถถามรายละเอียดของชาและป้านชาต่างๆ ที่เราสนใจได้ สำหรับที่สาขาปีนัง จะอยู่ที่ถนนแคมป์เบล (Campbell Road, George Town) เป็นร้านสองคูหา และละแวกเดียวกันจะมีร้านจำหน่ายชาอื่นๆอยู่ด้วย รวมไปถึงร้านขายยาจีนและของที่ระลึก อีกแหล่งหนึ่งจะเป็นที่สิงค์โปร์ครับ แต่ผมจำลายแทงร้านชาไม่ได้เพราะไปแค่ครั้งเดียว ถ้ามีโอกาสไปอีกครั้งจะเก็บรายละเอียดมาเล่าสู่กันฟังใหม่ครับ

ป้านชาอี๋ซิงจะใช้ชงชาอูหลงเป็นหลัก แต่ก็สามารถชงชาดำ (ชาซีลอน) หรือชาผู่เอ่อร์ ได้เช่นกัน อย่างที่เคยบอกไว้ในตอนที่แล้วนะครับ ป้านอี๋ซิงนั้นจะซับกลิ่นชาที่เราชงเป็นประจำไว้จนเคลือบเนื้อของป้านชา ดังนั้นใช้ป้านชาชงกับชาชนิดไหน ก็ไม่ควรเปลี่ยนครับ เดี๋ยวจะทำให้รสและกลิ่นของน้ำชาเปลี่ยนได้ เพื่อนๆในวงชาถามผมว่า ทำไมเรารู้ว่าสิ่งนี้ไม่ดี สิ่งนี้ไม่ถูกต้อง แต่ทำไมเรายังทำอยู่ ทำไมเราเลิกไม่ได้ ผมเฉลยให้ฟังว่า ก็สิ่งที่เอ็งทำอยู่ เอ็งทำมานานมากๆ มันซึมเข้าไปในใจของเอ็งเป็นเวลานานแล้ว เราต้องค่อยๆเปลี่ยน ฝืนความเคยชิน เปลี่ยนใจของเรา ใจเราไม่เหมือนป้านชาและภรรยา ที่ชงชาชนิดไหนแล้ว ห้ามเปลี่ยนเด็ดขาดนะเออ ฮา

ไม่มีความคิดเห็น: